Monday, July 22, 2013

เทคนิคการทุบตึกและรื้อถอนอาคารอย่างปลอดภัย

เทคนิคการทุบตึกและรื้อถอนอาคารอย่างปลอดภัย

วิธีการรื้อถอนอาคารหรือทุบตึกอย่างปลอดภัย นับเป็นหัวใจสำคัญของขั้นตอนการทำงานการรื้อถอนอาคารหรือทุบตึก เพราะเป็นงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของผู้ที่ดำเนินงานที่เคยมีประสบการณ์การรื้อถอนหรือทุบตึกเท่านั้น ซึ่งวิธีการรื้อถอนอาคารอย่างปลอดภัย จะต้องมีการศึกษาและพิจารณาถึงพฤติกรรมอาคารเมื่อถูกรื้อถอนในแต่ละขั้นตอนโดยวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมไปถึงการดำเนินการประเมินและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับ สิ่งแวดล้อม และชุมชนรอบข้างตลอดระยะเวลาการรื้อถอนและหลังจากการรื้อถอนแล้วเสร็จ ซึ่งจะขอกล่าวในบทความต่อไปนะครับ

สิ่งที่เป็นกระบวนการพื้นฐานที่พึงกระทำในการป้องกันผลกระทบขณะการทำงานรื้อถอนควรดำเนินการดังนี้
1. สร้างรั้วเป็นเขตการรื้อถอนหรือทุบตึกโดยรอบ และจัดทำทางเข้าออกของเครื่องจักรและรถบรรทุก
2. ติดป้ายโครงการและป้ายเตือนโดยรอบพื้นที่ เพื่อแสดงให้ชุมชนรอบข้างและบุคคลภายนอกทราบถึงเขตแนวการรื้อถอนให้ชัดเจน เพื่อให้ระมัดระวังเมื่อมีการสัญจรบริเวณใกล้แนวเขตรื้อถอน
3. จัดให้มีการคลุมอาคารในกรณีที่พื้นที่จำกัดและเพื่อป้องกันไม่ให้เศษวัสดุจากการรื้อถอนฟุ้งกระจายหรือตกกระเด็นออกไปกระทบพื้นที่ข้างเคียงให้มากที่สุด
4. มีการจัดการความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ ตามมาตรฐานสากล เช่นการให้คนงานที่ทำงานรื้อถอนสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) ให้เหมาะสมกับลักษณะงาน การวางมาตรการป้องกันอันตรายโดยทำการวิเคราะห์อันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการทำงาน (Job Safety Analysis) การตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องมือไฟฟ้า หรือเครื่องจักรที่ใช้ในการยก การตัก การสกัด ทุบตึก รื้อถอนเช่น เครน รถแบคโฮ เป็นต้น
5. มีการลำดับงานรื้อถอนโดยละเอียด และกำหนดผู้ปฏิบัติงานและผู้ควบคุมงานแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน เพื่อมิให้เกิดความสับสนขณะปฏิบัติงานรื้อถอนอาคาร
6. มีการวางแผนการจัดการในเศษวัสดุที่เกิดจากการรื้อถอน อย่างเหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย เศษวัสดุที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมก็ต้องดำเนินการกำจัดอย่างถูกต้อง เศษวัสดุฉนวนใยแก้ว เศษน้ำมันหล่อลื่น จะต้องส่งไปกำจัดโดยบริษัทที่รับกำจัดอย่างถูกกฎหมายเป็นต้น
7. ตรวจสอบและป้องกันความเสียหาย ของเส้นทางการลำเลียงเศษวัสดุที่จะนำไปทิ้งจะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนและเสียหายให้กับชุมชนหรือเส้นทาง เช่นการล้างล้อรถก่อนออกนอกเขตรื้อถอน การคลุมผ้าใบรถเศษคอนกรีต หรือดินที่จะนำออกนอกเขตรื้อถอนเสมอ เป็นต้น
8. เลือกเวลาในการลำเลียงวัสดุออกนอกพื้นที่ ควรจะเลี่ยงเวลาที่มีรถสัญจรไปมามากๆ หรือช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ การจราจรหรืออุบัติเหตุบนท้องถนน


ทั้งนี้กระบวนการต่างๆที่กล่าวมายัีงมีรายละเอียดปลีกย่อย และยังมีข้อควรระวังอีกหลายเรื่องซึ่งจะขอกล่าวในบทความต่อไป

No comments:

Post a Comment